วันเสาร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2559

ยากษัยเส้น หรือยาแก้ปวดเมื่อย



ยากษัยเส้น หรือยาแก้ปวดเมื่อย
                คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ พอได้ยินค่ำว่า กษัยส่วนมากมักจะหันมามองหน้ากันด้วยความสงสัยว่ากษัยคืออะไร เป็นอย่างไรแต่ คนรุ่นผู้ใหญ่หรือคนแก่คนเฒ่า คงจะคุ้นเคยกับคำนี้มาบ้างแล้ว มาลองทำความรู้จักกับโรคนี้ดูว่ามันเป็นอย่างไรกันแน่ ทำไมจึงพูดกันถึงโรคนี้อยู่บ่อย ๆ แต่ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจด้วยว่า โรคกษัยนี้ เป็นชื่อเรียกอาการโรคชนิดหนึ่งในทรรศนะของแพทย์แผนโบราณไทย ตำราเก่าตำราการแพทย์แผนไทยได้อธิบายเรื่อง  โรคกษัย   ไว้โดยละเอียดว่า  กษัยคือโรคที่บังเกิดขึ้นแก่มนุษย์  ทำให้มีอาการแห่งความเสื่อมโทรม  ซูมผอม  สุขภาพร่างกายไม่สมบูรณ์   ทั้งนี้เนื่องจากเป็นโรคหรือไข้อย่างใดอย่างหนึ่ง  ซึ่งทำลายสุขภาพของร่างกายให้เสื่อมโทรมไปทีละน้อย  เป็นเวลาต่อเนื่องกัน  โดยมิได้รับการบำบัดรักษา  หรือรักษาแต่ไม่ถูกกับโรคหรือไข้นั้นๆ  โดยตรง  เนื่องจากไม่มีอาการอะไรรุนแรงให้เห็นชัด  ทางการแพทย์แผนโบราณถือว่าร่างกายของคนเราเกิดจากธาตุทั้ง 4 มารวมกัน มีธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ และธาตุทั้ง 4 มันได้เสื่อมหน้าที่ของมัน จึงทำให้ร่างกายอ่อนแอ ทรุดโทรมลง ทำงานไม่ได้ตามปกติ สรุปแล้วกษัยจึงมีความหมายว่า เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมโทรมของร่างกาย(ธาตุทั้ง 4) นั่นเอง
อาการของโรคกษัย โรคกษัยนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 พวก ดังนี้
1.กษัยโอปาติกะ(คือเกิดขึ้นมีอาการหลายจำพวก ) กษัย ประเภทนี้กินไม่ได้นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย อาจจะมีอาเจียน ง่วงเหงาหาวนอน ไม่เป็นอันที่จะทำอะไร ปวดตามท้องน้อย ปวดเมื่อยไปหมด ซูบผอมลง เหงื่อออกตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า สมองมึนงง ถ้าถูกอากาศเย็นหรือที่ชื้นแฉะหรืออยู่ในน้ำ จะปัสสาวะบ่อย มีอาการจุกเสียดแน่น ปวดท้อง น่องหมดแรง
2.กษัยกร่อน หมายถึง เส้นตึง ท้องตึง เจ็บสะเอว มือเท้าชา วิงเวียน ตาฝ้าฟาง หูอื้อ ท้องขึ้น กินอาหารไม่ได้ มักปวดเสียดแทงตั้งแต่หัวหน่าวถึงยอดอก มักมีลำมีก้อนตามท้องน้อยและจะถ่วงเป็นก้อนอยู่ที่หัวหน่าวหน้าขาทั้ง 2 ข้าง แล้วเลื่อนลงไปถึงลูกอัณฑะ เกิดฟกบวมอักเสบจับต้องไม่ได้ เพราะเจ็บปวดเป็นก้อนเป็นเถาเป็นลำ(ก้อนยาว)
ส่วนคำว่า "เส้น" ในที่นี้หมายถึง เอ็นกล้ามเนื้อ,เอ็นยึดกระดูก(tendon) หรือ เอ็นยึดข้อ(ligament) หรือแนวมัดกล้ามเนื้อ ซึ่งมีอยู่ทั่วสรรพางค์กาย หรือทั่วร่างกาย
ดังนั้นยากษัยเส้นที่เราจะมาพูดถึงกันในวันนี้นั้นมีคุณสมบัติแก้อาการของโรคกษัยกร่อน ซึ่งเป็นลักษณะปวดเมื่อยเส้นยึด เกิดอาการฟกช้ำบวมเป็นต้นครับ
ตำรับยากษัตเส้นที่มีตัวยาดังต่อไปนี้ตัวหนึ่งตัวใดหรือหลายตัวเป็นตัวยาสำคัญ คือ ยางว่านหางจระเข้ เถาวัลย์เปรียง เถาเอ็นอ่อน มะคำไก่ รากแจง รางแดง เถาโคคลาน  กำแพงเจ็ดชั้น หัวดองดึง หัวกระดาดทั้งสอง  หัวอุตพิษ หัวบุก หัวกลอย  กำลังหนุมาน กำลังเสือโคร่ง เถาเมื่อย แส้ม้าทะลาย โรกแดง โรกขาว
ผมขอยกตัวอย่างยากษัยเส้นมาหนึ่งตำรับนะครับ องค์ประกอบในตัวยา 846 กรัม มีตัวยาสำคัญ คือ โกฏกระดูก 15 กรัม มะขามป้อม 30 กรัม สมอไทย    60 กรัม โกฏน้ำเต้า   180 กรัม ยาดำ  60 กรัม ซึ่งยาดำนี้จะมีส่วนผสมสำคัญคือยางว่านหางจระเข้นั่นเองครับ รวมน้ำหนัก 345  กรัม ส่วนประกอบอื่นๆเช่นกระสายยา และยาบำรุงร่างกายอีก 501 กรัมครับ จะเห็นได้ว่า ยางว่านหางจระเข้ และตัวยาสำคัญอื่นๆในยากษัยเส้นนั้นมีฤทธิ์ระบายออกครับ และก็มีส่วนผสมอื่นๆที่บำรุงร่างกายด้วยซึ่งเป็นไปตามหลักการรักษาของแพทย์แผนโบราณครับ
การรักษาของแผนโบราณนั้น เขาจะถือว่าคนที่เป็นโรคนั้นสะสมของไม่ดีไว้ หรือหมักโรคไว้ ต้องถ่ายเอาโรคหรือของเก่าที่ไม่ดีในร่างกายออกมาทิ้งให้หมด แล้วค่อยกินยาไปรักษา หรือบำรุงให้ร่างกายแข็งแรงเหมือนเดิม เราจึงใช้คำว่า ยารุยาถ่าย กับยาบำรุง ซึ่งทำให้คนเข้าใจผิดว่า ทำไมแผนโบราณต้องถ่ายกับต้องบำรุง เพราะการมองปัญหาและวิธีแก้ปัญหาแตกต่างกับปัจจุบัน
สำหรับวันนี้ท่านผู้ฟังคงจะได้รับความรู้อย่างมากมายเกี่ยวกับยากษัยเส้นนะครับ ทั้งความหมาย หลักการรักษา และตัวอย่างสูตรตำรับแบบโบราณจะเห็นได้ว่า ยากษัยเส้นเป็นยาแผนโบราณที่มีคุณสมบัติที่ดีจึงทำให้มีการใช้กันมาอย่างต่อเนื่องจวบจนถึงปัจจุบัน พวกเราควรจะเล็งเห็นความสำคัญในการใช้ยาแผนโบราณและหันมาใช้ยาแผนโบราณกันมากขึ้นนะครับ เนื่องจากประเทศเราจะได้ลดการนำเข้ายาต่างประเทศ และเน้นการพึ่งตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงของเราครับ ประเทศชาติของเราจะได้มีเศรษฐกิจที่ดี ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนะครับ

อ้างอิง
http://www.pornudomherbs.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=507301
http://www.brand-a.com/02Products/03kasaisen.html
http://thaipharmacies.org/knowledge/thai-medicine/94-2010-07-22-04-26-18.html
http://www.atriumtech.com/cgi-bin/hilightcgi?Home=/home/InterWeb2000&File=/home2/searchdata/Forums2/http/www.pantip.com/cafe/food/topic/D5704264/D5704264.html
http://www.doctor.or.th/node/5952

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น