วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ยาประสะกานพลู




                วันนี้ผมขอนำเสนอเรื่องยาประสะกานพลู  ซึ่งเป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบรานที่มีลักษณะเป็นผง  ประกอบไปด้วยด้วย เทียนดำ  เทียนขาว  โกฐสอ  โกฐกระดูก  กำมะถันเหลือง  การบูร  รากไคร้เครือ  เปลือกเพกา  เปลือกขี้อ้าย  ใบกระวาน  ลูกกระวาน  ลูกผักชี  แฝกหอม ว่านน้ำ  หัวกระชาย  เปราะหอม  รากแจง  กรุงเขมา  หนักสิ่งละ 4 ส่วน รากข้าวสาร  เนื้อไม้   ลูกจันทน์  ขมิ้นชัน  หนักสิ่งละ 8 ส่วน   ขิงแห้ง  ดีปลี  หนักสิ่งละ 3 ส่วน  ไพล  เจตมูลเพลิงแดง สะค้าน  ช้าพลู  หนักสิ่งละ 2 ส่วน  เปลือกซิก หนัก 10 ส่วน  พริกไทย หนัก 1 ส่วน   กานพลู หนัก 131 ส่วน  มีสรรพคุณแก้ปวดท้อง  จุกเสียด  แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย  เนื่องจากธาตุไม่ปกติ ใช้ไพลเผาไฟฝนกับน้ำปูนใส  ถ้าหาน้ำกระสายไม่ได้  ให้ใช้น้ำสุกแทน  ใช้รับประทานทุก 3 ชั่วโมง  ผู้ใหญ่ ครั้งละ 1 ช้อนชา น้ำกระสาย 2-4 ช้อนโต๊ะ  มีข้อควรระวังในสตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ยานานเกิน 5 วัน และผู้ป่วยที่มีไข้สูงไม่ควรรับประทาน
                ดูจากส่วนประกอบแล้วท่านผู้ฟังคงจะพบว่ายาประสะกานพลูจะมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ กานพลูที่มีมากถึง 131 ส่วน  ซึ่งกานพลูเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์เป็นอย่างมาก  ส่วนที่ใช้เป็นยาของกานพลูที่นิยมกันมากคือดอกตูม  มีการใช้ทั้งส่วนที่เป็นดอกตูมแห้ง  กับส่วนที่เป็นน้ำมัน  ที่ได้จากการกลั่นดอกตูมนั้น   มีบันทึกการใช้ดอกตูมของกานพลูเป็นยามาตั้งแต่ 207 ปี ก่อนคริสต์ศักราช คือในสมัยราชวงศ์ฮั่น  จักรพรรดิจีนจะอมดอกกานพลูไว้ในปากเพื่อดับกลิ่นปาก  หมอจีนได้มีการนำกานพลูมาใช้เป็นยาอย่างยาวนาน  โดยใช้ในการเป็นยาช่วยย่อย  แก้ท้องเสีย  แก้ไส้เลื่อน  แก้กลากเกลื้อน ฮ่องกงฟุต  เช่นเดียวกับหมออายุรเวทของอินเดีย  ที่มีการใช้ดอกตูมของกานพลูมาอย่างยาวนานเช่นกัน  โดยใช้ในโรคระบบทางเดินหายใจ  และใช้ในการช่วยย่อย  ต่อมา กานพลูแพร่เข้าไปในยุโรป ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 4  ซึ่งขณะนั้นดอกกานพลูเป็นของมีค่าและหายากอย่างยิ่ง  ตอนนั้นกานพลูเป็นส่วนประกอบในยารักษาโรคเก๊าท์ของหมอชาวเยอรมัน  ความต้องการในดอกกานพลูและเครื่องเทศอื่นๆ ของเอเชียกระตุ้นให้เกิดยุคแห่งการสำรวจและค้นหาดินแดนนอกทวีปยุโรป   ในปี ค.ศ. 1512 มีชาวสเปนผู้หนึ่งนำกานพลูกลับมาหลังจากการสำรวจ  จึงเกิดการใช้กานพลูกันอย่างแพร่หลายในยุโรป ซึ่งการใช้ไม่ต่างจากในจีนและอินเดียนัก  คือมีการใช้กานพลูในการช่วยย่อย  แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ  แก้คลื่นไส้อาเจียน  แก้ท้องเสีย  ทั้งยังใช้ในการช่วยแก้ไอ  รักษาอาการเป็นหมัน  แก้หูด  แก้กลากเกลื้อน แก้แผล  แก้ปวดฟัน   ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 19 กานพลูแพร่เข้าไปในอเมริกา  มีการสั่งใช้ในหมู่หมอโฮมิโอพาธี  เพื่อช่วยย่อยอาหารและผสมลงไปในยารสขม  เพื่อช่วยกลบรส  กลุ่มหมอเหล่านี้ได้พัฒนาการกลั่นน้ำมันจากกานพลู  จนได้เป็นน้ำมันกานพลู  หรือที่เรียกกันว่า clove oil  ใช้ในการรักษาโรคเหงือกและใช้แก้ปวดฟัน  ต่อมาน้ำมันกานพลู  ก็เป็นที่แพร่หลายในหมู่หมอฟัน  มีการใช้น้ำมันกานพลูแก้ปวดฟัน  โดยใช้สำลีพันก้านชุบน้ำมันกานพลู  แล้วทาไปบนฟันและเหงือกรอบฟันที่มีอาการปวด  และนอกจากนี้น้ำมันกานพลูยังใช้ผสมในผลิตภัณฑ์ที่กับเหงือกและฟันสมัยใหม่หลายชนิด นอกจากช่วยบรรเทาอาการปวดโดยมีฤทธิ์เป็นยาชาแล้ว  น้ำมันกานพลูยังเป็นยาฆ่าเชื้อได้ดี
 
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วจะพบว่ากานพลูเป็นสมุนไพรที่ส่วนประกอบที่สามารถนำมาใช้เป็นยาได้  ไม่ว่าจะเป็นเปลือกต้นใช้แก้ปวดท้อง แก้ลม  ใบใช้แก้ปวดมวน  ดอกตูมใช้รับประทานขับลม ใช้แต่งกลิ่น ดอกกานพลูแห้งที่ยังไม่ได้สกัดเอาน้ำมันออก  และมีกลิ่นหอมจัด  มีน้ำมันหอมระเหยมาก  มีรสเผ็ด ช่วยขับลม  แก้อาการท้องอืด  ท้องเฟ้อ  ปวดท้อง  และแน่นจุกเสียด  แก้อุจจาระพิการ  แก้โรคเหน็บชา แก้หืด  แก้ไอ  แก้น้ำเหลืองเสีย  แก้เลือดเสีย  ขับน้ำคาวปลา  แก้ลม  แก้ธาตุพิการ  บำรุงธาตุ  ขับเสมหะ  แก้เสมหะเหนียว  ขับผายลม  ขับลมในลำไส้  แก้ท้องเสียในเด็ก  แก้ปากเหม็น  แก้เลือดออกตามไรฟัน  แก้รำมะนาด  ดับกลิ่นเหล้า  แก้ปวดฟัน  ผลใช้เป็นเครื่องเทศ  เป็นตัวช่วยให้มีกลิ่นหอม  และน้ำมันหอมระเหยกานพลู  ใช้เป็นยาชาเฉพาะที่  แก้ปวดฟัน  ฆ่าเชื้อทางทันตกรรม  และยังใช้เป็นยาระงับการชักกระตุก ทำให้ผิวหนังชาได้อีกด้วย
               
 http://viriyamai.com/upload/1390214089.png