วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2559

ยาหอมนวโกฐ



ยาหอมนวโกฐ
วันนี้ผมจะมาแนะนำยาหอมไปหลายตำรับแล้วสำหรับวันนี้เรายังอยู่ที่ยาหอมอยู่ครับ ยาหอมตัวนี้ชื่อว่า ยาหอมนวโกฐ ครับ ชื่อนวโกฐ แยกได้เป็นสองคำนะครับ คือคำว่า นว (นะวะ) ซึ่งแปลว่า เก้า และ โกฐ ซึ่งแปลว่า ต้นไม้ ยาหอมนวโกฐจึงแปลว่า ยาหอมที่ทำมาจากต้นไม้ หรือ โกฐ 9 ชนิดดังนี้ โกฐสอ โกฐเขมา โกฐหัวบัว โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา โกฐกระดูก โกฐก้านพร้าวโกฐพุงปลา โกฐชฎามังสี
เมื่อรู้จักที่มาของยาหอมกันแล้ว เรามาดูส่วนประกอบของยาหอมกันนะครับว่าประกอบด้วยอะไรบ้างครับ ส่วนประกอบของยาหอมนวโกศมีดังนี้ มีโกฐ 9 ชนิดดังที่กล่าวไว้ข้างต้นนะครับ คือ โกฐสอ โกฐเขมา โกฐหัวบัว โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา โกฐกระดูก โกฐก้านพร้าวโกฐพุงปลา โกศชฎามังสี หนักอย่างละ 4 ส่วน สะค้าน รากช้าพลู ขิงแห้ง ดีปลี รากเจตมูลเพลิงแดง หนักสิ่งละ 3 ส่วน  แห้วหมู เทียนดำ เทียนขาว เทียนแดง เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนเยาวพาณี เทียนสัตตบุษย์ เทียนเกล็ดหอย เทียนตากบ สักขี ลูกราชดัด ลูกสารพัดพิษ ลูกกระวาน กานพลู ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ จันทน์แดง จันทร์เทศ อบเชยญวน เปลือกสมุลแว้ง หญ้าตีนนก แฝกหอม เปลือกชะลูด เปราะหอม รากไคร้เครือ เนื้อไม้ ขอนดอก กระลำพัก เนื้อลูกมะขามป้อม เนี้อลูกสมอพิเภก ชะเอมเทศ ลูกผักชีลา ลูกกระดอม บอระเพ็ด เกสรบัวหลวง เกสรบุนนาค ดอกพิกุล ดอกสารภี ดอกมะลิ แก่นสน หนักสิ่งละ 4 ส่วน และ พิมเสน หนัก 1 ส่วน
วิธีทำ ชนิดผง นำสมุนไพรทั้งหมดตามสัดส่วนมาบดเป็นผง  สำหรับชนิดเม็ด นำสมุนไพรทั้งหมดมาบดเป็นผงแล้วทำเป็นเม็ด ให้ได้น้ำหนักเม็ดละ 0.2 กรัม
สรรพคุณ แก้ลมคลื่นเหียนอาเจียน โดยนำผงยามาละลายในน้ำลูกผักชี หรือเทียนดำต้ม  แก้ลมปลายไข้ โดยนำผงยามาละลายในน้ำกระสายใช้ก้านสะเดา ลูกกระดอม และบอระเพ็ด ต้มเอาน้ำ ถ้าหาน้ำกระสายไม่ได้ใช้น้ำสุกแทน
ขนาดรับประทาน  รับประทาน ทุก 3 ชั่วโมง วันละไม่เกิน 3 ครั้ง ( ชนิดผง ครั้งละ ½- 1 ช้อนชา ชนิดเม็ด ครั้งละ 5-10 เม็ด ) ละลายด้วยนำกระสาย 2-4 ช้อนโต๊ะ
ข้อควรระวัง
      -  ระวังในผู้ป่วยที่แพ้เกสรดอกไม้
      -  การใช้ยาในสตรีมีครรภ์ไม่ควรเกิน 5 วัน
จากสรรพคุณของยาหอมจะใช้ความเผ็ดร้อน และ กลิ่นหอมระเหยของสมุนไพรนะครับ ดังนั้นในวันนี้ผมจะมาแนะนำสมุนไพรที่ผสมอยู่กับยาหอมครับ สมุนไพรชนิดนี้คือ ดีปลี
ดีปลี มีชื่อภาษาท้องถิ่นว่า ประดงข้อ ดีปลีเชือก ปานนุ พิษพญาไฟ และดีปลี ดีปลีในที่นี้เป็นภาษาภาคกลาง ไม่ใช่ภาษาใต้บ้านเรา เพราะหากเป็นภาษาใต้บ้านเราหากพูดคำว่าดีปลีจะหมายถึง พริก นะครับ ดีปลี มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Long pepper หรือ Indian Long Pepper มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Piper retrofractum Vahl ดีปลีจัดอยู่ในวงศ์ Piperaceae จัดเป็นพืชเมืองร้อน เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง มีรากตามข้อของลำต้นเพื่อยึดเกาะ มีผลอัดแน่นเป็นช่อ ทุกส่วนมีกลิ่นหอมฉุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผล จะมีกลิ่นหอมฉุนและมีรสเผ็ดร้อนมากกว่า ปลูกมากในอินเดีย อินโดนิเซีย มาเลเซีย และไทย ใช้เป็นเครื่องเทศและทำยา
ดีปลี มีคุณค่าทางโภชนาการคือ ประกอบด้วย แอลคาลอยด์ ชื่อไปเปอรีน (piperine) 4-6 % และชาวิซีน (chavicine) มีน้ำมันหอมระเหย (0.7%) หลายชนิด เช่น แอลฟาทูจีน (α-thujene) เทอร์พิโนลีน (terpinolene) ซินจิเบอรีน (zingiberine) พาราไซมีน (p-cymene)
สรรพคุณของดอกดีปลีที่ใช้เป็นส่วนผสมของยาหอมนวโกฐ
ดอกหรือผล ใช้เป็นเครื่องเทศและยา ลูกหรือผล ใช้แต่งกลิ่นรสผักดอง กระตุ้นน้ำย่อยช่วยให้เจริญอาหาร รักษาโรคทางเดินหายใจ มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบและคลายตัว บำรุงธาตุ แก้ไอระคายคอ ละลายเสมหะ บรรเทาอาการท้องอืด ดอก ใช้ ปรุงเป็นยาธาตุแก้ตับพิการ แก้โรคนอนไม่หลับ โรคลมบ้าหมู ขับน้ำดี และมีสารต้านมะเร็ง วิธีใช้ จะใช้ผลแก่แห้งตากแห้ง 1 กำมือ (10-15 ผล) ต้มเอาน้ำดื่ม ใช้แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลม แก้จุกเสียด หรือใช้ผลแก่ฝนกับน้ำมะนาว เติมเกลือเล็กน้อย ใช้กวาดคอ แก้ไอขับเสมหะ หรือใช้ผลแห้งบดเป็นผงหนัก 5 กรัม ชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว ดื่มก่อนอาหาร เช้า-เย็น ในบางตำรามีระบุว่า ใช้ทาภายนอกแก้ปวดกล้ามเนื้อ รักษาอาการอักเสบ นอกจากนี้ยังพบว่า ในบางตำราใช้ ราก ผล และดอก ของดีปลีนำมาปรุงเป็นยาแก้หืด แก้ไอ แก้ลมวิงเวียนศรีษะได้ดี ซึ่งเป็นสรรพคุณของยาหอมนวโกฐของเราด้วยครับ




อ้างอิง
http://herbal.pharmacy.psu.ac.th/index.php?option=com_content&task=view&id=65&Itemid=60
http://www.konseo.com/
http://www.rmutt.biz/herbal-medicine/47.html
http://www.gotoknow.org/post/tag/%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B9%82%E0%B8%81%E0%B8%90
http://www.thaihof.org/
http://www.arunsawat.com/board/index.php?topic=10738.0
               



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น