วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559

ยาแสงหมึก



ยาแสงหมึก
                ยาแสงหมึก  ซึ่งเป็นยาสมุนไพรที่เป็นยาสามัญประจำบ้านเพื่อใช้สำหรับเด็ก  ประกอบไปด้วย  หมึกหอม  จันทน์ชะมด  ลูกกระวาน  จันทร์เทศ ใบพิมเสน  ลูกจันทน์  ดอกจันทน์  กานพลู  ใบสันพร้าหอม  หัวหอม  ใบกะเพรา หนักสิ่งละ 4 กรัม พิมเสน หนัก 1 ส่วน  ทำได้โดยนำมาบดเป็นผง  ทำเป็นเม็ด หนักเม็ดละ 0.2 กรัม  มีสรรพคุณ แก้ตัวร้อน  ละลายน้ำดอกไม้เทศ  แก้ท้องขึ้น ปวดท้อง  ละลายน้ำใบกะเพราต้ม  แก้ไอ ขับเสมหะ  ละลายน้ำลูกมะแว้งเครือ หรือลูก มะแว้งต้นกวาดคอ  และแก้ปากเป็นแผล  แก้ละออง  ละลายน้ำลูกเบญกานีฝนทาปาก  วิธีใช้คือกวาดคอวันละ 1 ครั้ง หลังจากนั้นรับประทานทุก 3 ชั่วโมง   เด็กอายุ 1- 6 เดือน ครั้งละ 2 เม็ด  เด็กอายุ 7-12 เดือน ครั้งละ 3 เม็ด 
                ส่วนประกอบของยาแสงหมึกแบ่งได้เป็นสามกลุ่ม คือ  กลุ่มแรกประกอบไปด้วยหมึกหอม จันทน์ชะมด  จันทน์เทศ  ใบพิมเสน  ใบสันพร้าหอม  โดยตัวยากลุ่มแรกนี้เป็นยาหลัก  มีรสเย็น         มีสรรพคุณแก้ไข้ตัวร้อน  แก้ไข้หัวไข้กาฬ  โดยเฉพาะหมึกหอมนั้นเป็นชนิดเดียวกับที่คนจีนใช้ฝนเพื่อเอาน้ำหมึกทาแก้ม  เขียนเป็นตัวเสือเมื่อเกิดคางทูม  กลุ่มที่สองประกอบไปด้วย  ลูกกระวาน  ลูกจันทน์ ดอกจันทน์  กานพลู  หัวหอม  ใบกะเพรา  ซึ่งตัวยากลุ่มที่สอง เป็นยาช่วย มีรสร้อนสุขุม ช่วยเสริมฤทธิ์ยากลุ่มแรกให้มีสรรพคุณแรงขึ้น  และช่วยระบบประสาทด้วย  ที่น่าสังเกต คือ หัวหอมแดง หรือว่านหอมแดง  เป็นชนิดหัวยาวรูปไข่ คนละชนิดกับหอมแดงทำอาหาร หัวมีเนื้อสีแดงเข้ม  หัวหอมนี้มีรสร้อน ขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้  แพทย์ตามชนบทใช้หัวหอมตำสุมกระหม่อมเด็กแก้หวัด  กลุ่มที่สามคือพิมเสนเป็นยาช่วยบำรุงหัวใจ และกระพือลม  ตัวยาทั้งสามกลุ่มนี้เมื่อประกอบเป็นตำรับยาจึงใช้ลดความร้อน  แก้อาการปวดหัว  ปวดเส้นประสาทบนใบหน้าและหนังศีรษะ  ลดอาการหวัดร้อนได้
                สิ่งที่น่าสนใจในส่วนประกอบของยาแสงหมึก คือ  หัวหอม  ซึ่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าหอมแดง หรือว่านหอมแดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Eleutherine americana Merr.  วงศ์  IRIDACEAE   ลักษณะของว่านหอมแดง  เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี  มีหัวใต้ดินคล้ายหัวหอม  รูปรียาว  ใบเกร็ดที่หุ้มหัวใต้ดิน      สีม่วงแแดง  มีใบเดี่ยว ออกเป็นกระจุก 3-4 ใบ รูปดาบ กว้าง 2-4 ซม. ยาว 20-40 ซม. เส้นใบขนาน จีบตามยาวคล้ายพัด  ดอกช่อ แทงจากลำต้นใต้ดิน  กลีบดอกสีขาว  ผลแห้ง แตกได้ สรรพคุณของว่านหอมแดง  หัวใต้ดินสด  ใช้ผสมรวมกับเหง้าเปราะหอม  ตำหยาบๆ  ห่อผ้าสุมหัวเด็ก  แก้หวัดคัดจมูก และกินเป็นยาขับลม  ซึ่งเรามักจะใช้ชื่อเดียวกับหอมแกงที่ใช้ทำอาหาร  อาจทำให้เกิดการสับสนได้
                หากท่านได้สืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เนตจะพบว่าพิมเสนที่ใช้นี้มีลักษณะเป็นเกล็ดเล็กๆ มีสี ขาวขุ่นหรือแดงเรื่อๆ มีกลิ่นหอมเย็น ฉุน มีชื่อทางเคมีว่า (+)-บอร์นีออล ชื่อสามัญว่า Borneol camphor พิมเสนบริสุทธิ์จะเป็นรูปหกเหลี่ยม ละลายในปิโตรเลียมอีเทอร์, เบนซิน
ตามตำราประมวลหลักเภสัชฯ  ท่านจัดพิมเสนเป็นธาตุวัตถุ  ได้จากการนำการบูรมาหุงกับยาอื่นๆ ได้เป็นเกร็ดแบนๆสีขาว  หรือสีแดงเรื่อๆ  แต่ปัจจุบันได้จากสารสังเคราะห์ซึ่งจะมีรสเผ็ดกัดลิ้น  ถ้าเป็นของแท้จากธรรมชาติจะไม่กัดลิ้น  แต่จะทำให้เย็นปากคอ  สมัยก่อนใส่ในหมากพลู  แพทย์แผนโบราณใช้พิมเสนเป็นยาขับเหงื่อ  ขับเสมหะ  กระตุ้นการหายใจ  กระตุ้นสมอง  บำรุงหัวใจ  ใช้เป็นยาระงับความกระวนกระวาย  ทำให้ง่วงซึม  ถ้าใช้เกินขนาดอาจทำให้อาเจียน   การอบสมุนไพรมีพิมเสนเป็นส่วนประกอบในตัวยา  พิมเสนซึ่งระเหิดเมื่อถูกความร้อน  มีกลิ่นหอม  ใช้แต่งกลิ่น  บำรุงหัวใจ    แก้โรคผิวหนัง  ผสมในลูกประคบ  เพื่อช่วยแต่งกลิ่น  มีฤทธิ์แก้พุพอง  แก้หวัดนอกจากนี้ยังผสมอยู่ในยาหม่อง  น้ำอบไทย  ในยาหอมจะมีใบพิมเสน และพิมเสนผสมอยู่ด้วย  สมัยก่อนพิมเสนเป็นยาที่หายาก  มีราคาแพง  จึงมีคำพูดที่ว่า  อย่าเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ  ในตำรายาไทยยังบอกไว้อีกว่า พิมเสน การบูร  ช่วยให้นอนหลับสนิท  แต่คนชอบเอาไปใส่รถ  นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รถชนกัน ดังนั้น  ห้ามใช้ในรถเด็ดขาด
ว่ายาแสงหมึกเป็นยาสมุนไพราพื้นบ้านที่มีสรรพคุณที่ดีมากในด้านแก้หวัด  เพราะส่วนประกอบส่วนใหญ่มีสรรพคุณแก้ร้อนใน  ทำให้สามารถนำมาใช้แก้หวัด แก้ไข้ได้ดีมาก และยาแสงหมึกยังเป็นยาที่มีในโรงงานยาต้นแบบของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่จะจะดำเนินการผลิตในอนาคตอันใกล้นี้อีกด้วยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น