วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559

ยาหอมเทพจิตร



ยาหอมเทพจิตร
ในชีวิตประจำวันของคนไทย เมื่อใดก็ตามที่เกิดอาการ ท้องอืดท้องเฟ้อ, จุกเสียดแน่นท้อง, ไปจนถึงวิงเวียนศีรษะ, หน้ามืดตาลายคล้ายจะเป็นลม สิ่งแรกที่จะมองหาคว้ามาเพื่อช่วยบรรเทาอาการจากโรคลม ก็คือ ยาลม หรือ ยาหอมนั่นเอง ยาหอมเป็นยาสามัญประจำประเทศไทยมาหลายร้อยปีแล้ว แต่เดิมเป็นยาของคนชั้นสูง ที่ใช้เฉพาะในวัง และเมื่อเวลาผ่านไป จึงค่อยๆ เผยแพร่สู่ร้านขายยา ให้ประชาชนผู้ลมขึ้นทั้งหลายได้ใช้กัน สาเหตุที่ยาหอมนั้นแก้โรคลมสารพัดอาการได้ผลชะงัดนัก ก็เพราะเกิดจากการรวมตัวของสุดยอดสมุนไพรหลายสิบชนิด! บางชนิดก็ถือเป็นของหายากมากๆด้วยครับ
เรามาดูส่วนประกอบของยาหอมเทพจิตรกันก่อนนะครับ ซึ่งประกอบด้วย ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กานพลู จันทน์แดง จันทน์ขาว กฤษณา กระลำพัก ขอนดอก ชะลูด อบเชย เปราะหอม แฝกหอม หนักสิ่งละ 2 ส่วน ผิวมะกรูด ผิวมะงั่ว ผิวมะนาว ผิวส้มตะรังกะนู ผิวส้มจีน ผิวส้มโอ ผิวส้มเขียวหวาน หนักสิ่งละ 4 ส่วนผิวส้มซ่า หนัก 28 ส่วน ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง ดอกบัวขม ดอกบัวเผื่อน หนักสิ่งละ 4 ส่วนชะมดเช็ด การบูร หนักสิ่งละ 1 ส่วนโกฐสอ โกฐเขมา โกฐหัวบัว โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา โกฐกระดูก โกฐก้านพร้าว โกฐพุงปลา โกฐชฎามังสี หนักสิ่งละ 4 ส่วน เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนเยาวพาณี เทียนสัตตบุตย์ เทียนเกล็ดหอย เทียนตากบ หนักสิ่งละ 4 ส่วน พิมเสนหนัก 4 ส่วน ดอกมะลิ หนัก 184 ส่วน
วิธีทำ บดเป็นผงผสมน้ำดอกไม้เทศ ทำเป็นเม็ด หนักเม็ดละ 0.2 กรัม
สรรพคุณ แก้ลม บำรุงหัวใจ
ขนาดรับประทาน ครั้งละ 5- 7 เม็ด ไม่เกินวันละ 3 ครั้ง 
ข้อห้ามใช้   ห้ามใช้ในเด็กทารก
ข้อควรระวัง
      -  ระวังการใช้ยาเกินขนาดในผู้ป่วยโรคตับ ไตและทางเดินปัสสาวะ
      -  ระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้เกสรดอกไม้
ในสูตรตำรับของยาหอมเทพจิตรจะมีส่วนอัตราส่วนของดอกมะลิอยู่มากที่สุด ดังนั้นวันนี้ผมจะนำข้อมูลและสรรพคุณต่างๆของดอกมะลิมาให้ท่านผู้ฟังได้ทราบกันครับ
มะลิ มีชื่อพื้นบ้านว่า มะลิลา มะลิซ้อน มะลิหลวง และมะลิ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า (Jasmine) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Jasminum sambac Ait. และ Jusminum adenophyllum จัดอยู่ในวงศ์ OLEACEAE
มะลิจัดเป็นพรรณไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง แตกกิ่งก้านสาขาออกรอบๆ มีลำต้นสูงประมาณ 5 ฟุต ใบเป็นใบเดี่ยวแตกออกเป็นคู่ไปตามก้านต้น ลักษณะใบป้อมมน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบไม่มีจัก ผิวใบเรียบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ใบยาว 2-3 นิ้ว มีดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกเป็นช่อตามปลายยอดหรือปลายกิ่งประมาณ 3-5 ดอก แล้วแต่ชนิดและพันธุ์ ดอกมะลิมีสีขาว และมีกลิ่นหอม มีทั้งดอกลาและดอกซ้อน ออกดอกตลอดปี
"มะลิ" มีคุณค่าทางโภชนาการคือ ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยหลายชนิด กรดฟอร์มิก (formic acid)สารเซมเบน (sambain) และแซมบาโคติโนไซด์(sambacotiqnoside)
สรรพคุณของดอกมะลิ ใช้แต่งกลิ่น เข้ายาหอม แก้อาการหอบหืด ลดน้ำมูก แก้บิด ปวดท้อง ใช้ทาบริเวณที่ปวดศรีษะ ทาฝีหนอง ทาแผลเรื้อรัง ใช้ดอกมะลิสดหรือแห้ง 1.5 - 3 กรัม หรือใบสด 3 - 6 กรัม หรือรากสด 1 - 1.5 กรัม ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยกาแฟ ใช้ดื่มเพื่อรักษาอาการดังกล่าว
นำดอกมะลิสดไปลอยน้ำดื่ม จะมีสรรพคุณช่วยในการบำรุงหัวใจหรือจะใช้ดอกมะลิแห้ง 1.5 - 3.0 กรัม ต้มหรือชงกับชาจีนที่เรียกว่า จัสมินที (Jasmine Tea) แล้วดื่มร้อนๆ หรือขณะยังอุ่นอยู่ จะช่วยให้ชุ่มคอแก้กระหายน้ำได้เป็นอย่างดี
น้ำมันมะลิ หรือที่เรียกว่า จัสมินเอสเซนเชียลออย (Jasmine essential oil) นั้นมีราคาสูง เนื่องจากในกรรมวิธีการผลิต จะใช้จากส่วนดอกมะลิ เท่านั้น ถือว่าเป็นราชาแห่งน้ำมัน (King of oil) และยังนับได้ว่าเป็นน้ำมันที่มีความนุ่มนวลและเต็มไปด้วยคุณค่า เวลามีครรภ์ก็ควรลดขนาดที่ใช้ลง ใช้โดยให้ระเหยในห้องเมื่อเป็นหวัด ลดน้ำมูก ไอ หรือเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
จะเห็นได้ว่าดอกมะลิไม่ได้มีดีแค่ความหอมนะครับ ยังมีประโยชน์และคุณค่ามากมาย ทำให้ยาหอมเทพจิตรของเรามีประโยชน์และคุณค่าเพิ่มมากขึ้นด้วย


อ้างอิงhttp://herbal.pharmacy.psu.ac.th/index.php?option=com_content&task=view&id=49&Itemid=60
http://www.phoomtai.com/product/613/1/
http://www.thaicookingclub.com/thaimedicine_athome.htm
http://www.samunpri.com/modules.php?file=samon5&name=Herbs

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น