วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559

ยาหอมทิพโอสถ



ยาหอมทิพโอสถ
                ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จักกับความหมายของยาหอมกันก่อน ยาหอมคือยาผงที่นำมาละลายน้ำรับประทานเพื่อแก้อาการเป็นลม ในยาหอมจะมีส่วนผสมของ สมุนไพร และ เกสรดอกไม้ต่างๆ เพื่อให้ความหอมเย็น สดชื่น
                เรามาเข้าเรื่องยาหอมทิพโอสถที่ผมจะมาแนะนำในวันนี้กันต่อนะครับ ก่อนอื่นขอพูดถึงส่วนประกอบของยาหอมนี้ก่อนนะครับ ส่วนประกอบประกอบด้วย ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี ดอกมะลิ เกสรบัวหลวง ดอกกระดังงา ดอกจำปา ดอกบัวจงกลนี หัวแห้วไทย กระจับ ฝาง จันทน์แดง จันทน์ขาว จันทร์เทศ กฤษณาชะลูด อบเชย สมุลแว้ง สนเทศ ว่านน้ำ กระชาย เปราะหอม ดอกคำไทย ชะเอมเทศ สุรามฤต ข่าต้น ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ หนักสิ่งละ 4 ส่วน โกฐสอ โกฐเขมา โกฐหัวบัว โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา โกฐกระดูก โกฐก้านพร้าว โกฐพุงปลา โกฐชฎามังสี หนักสิ่งละ 2 ส่วน เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนเยาวพาณี เทียนสัตบุษย์ เทียนเกล็ดหอย เทียนตากบ การบูร หนักสิ่งละ 1 ส่วน ชะมดเช็ด พิมเสน หนักสิ่งละ 2 ส่วน
วิธีทำ ชนิดผงใส่ส่วนประกอบทั้งหมดตามอัตราส่วนแล้วบดเป็นผง ส่วนชนิดเม็ดบดส่วนประกอบทั้งหมดตามอัตราส่วนให้เป็นผงแล้วทำเป็นเม็ด น้ำหนักหนักเม็ดละประมาณ 0.2 กรัม
สรรพคุณ แก้ลมวิงเวียน ละลายน้ำดอกไม้สุก
ขนาดรับประทาน ชนิดผงครั้งละ ½ -1 ช้อนชา ชนิดเม็ด ครั้งละ 5- 7 เม็ด
                การทำยาหอมทิพโอสถนอกจากสมุนไพรแล้ว ยังมีไขชะมดเช็ด ซึ่งเป็นไขที่ได้จากชะมดนะครับ สัปดาห์ก่อนๆ เราให้ความรู้เกี่ยวกับเภสัชวัตถุจากพืชสมุนไพรกันมามากแล้ววันนี้ผมจะมาให้ความรู้เกี่ยวกับเภสัชวัตถุที่มาจากสัตว์กันบ้างนะครับเรามาดูกันว่าสัตว์ชนิดนี้พิเศษอย่างไรนะครับ
ชะมดเช็ด( Small Indian Civet ) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Viverricula malaccensis ลักษณะทั่วไป ชะมดเช็ดมีขนาดเล็กกว่าชะมด หรืออีเห็นชนิดอื่น ขนสีน้ำตาลจาง มีลายสีดำอยู่บนหลัง 5 ลาย ลายยาวจากคอถึงโคนหาง ข้างตัวมีลายเป็นจุดสีดำเรียงเป็นแนววิ่งไปตามความยาวของลำตัว หางเป็นปล้องสีขาวสลับดำ 6 - 9 ปล้อง ส่วนปลายหางเป็นสีขาวเสมอ ไม่มีขนแผงหรือขนตั้งชันที่คอหรือหลังเหมือนอย่างชะมดแผง หน้าผากแคบเหมือนหน้าหนู ขาค่อนข้างสั้น
ชะมดเช็ดมีต่อมใกล้ทวารหนัก ซึ่งขับของเหลวมีกลิ่นฉุน โดยธรรมชาติสัตว์จะเช็ดของเหลวนี้กับตอไม้หรือกิ่งไม้ จึงเรียกชื่อสัตว์ชนิดนี้ว่า ชะมดเช็ดของเหลวดังกล่าวนี้ใช้ทำยาและน้ำหอมได้ ต่อมกลิ่นที่ก้นชะมดเช็ดมีอยู่ทั้งในตัวผู้และ ตัวเมีย แต่ของตัวเมียเล็กกว่า บางครั้งเรียกว่า Musk Civet
การเช็ดไขของเหลวเริ่มเมื่อมีอายุประมาณ 1 ปีจะมีไขของเหลวออกมาแต่สัตว์จะมีพฤติกรรมการเช็ดตั้งแต่หย่านมแล้ว โดยก่อนที่จะเช็ดจะเดินวนรอบแล้วจะดมดูจุดที่จะเช็ด ก่อนเช็ดจะยกหางขึ้นก่อนแล้วถอยเข้าหาที่เช็ด  ในสมุนไพรชะมดเช็ด จะมีสารประกอบที่เรียกว่า civetone ซึ่งเป็นสารคีโทน จะมีคุณสมบัติช่วยในการทำให้กลิ่นหอมคงอยู่นานหรือที่เรียกว่าสารตรึงกลิ่น (fixative)         ซี่งป็นส่วนประกอบสำคัญในการปรุงยาแผนโบราณของไทย เช่น ยาหอมเทพจิตร  ยาหอมทิพโอสถ และยาหอมอินทจักร์    อันเป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ นอกจากนี้ตามข้อมูลของกองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อ.ย.) พบว่ามีการขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนโบราณที่ใช้สมุนไพรชะมดเช็ดเป็น เครื่องยาถึง 115 ตำรับ ทั้งยังเป็นที่ต้องการของตลาดการผลิตยาแผนโบราณและธุรกิจน้ำมันระเหยง่ายสำ หรับสปาและสุคนธบำบัด(Aromatherapy) ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกอีกด้วย ได้แก่ ประเทศจีน ,ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้นกลุ่มประเทศตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศทางยุโรป
จากประโยชน์ดังที่กล่าวข้างต้นทำให้ชะมดเช็ดกลาย เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่เป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก  ในสัตว์เศรษฐกิจทุกชนิดล้วนต้องการการจัดการที่เหมาะสมซึ่งจำเป็นต้องมี ข้อมูลที่มาจากการศึกษาวิจัย ด้วยเหตุนี้จึงกระตุ้นให้เกิดงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาทางชีววิทยา   เภสัชวิทยา หรือการศึกษาเกี่ยวกับจัดการทางด้านการผลิตเช่น การจัดการโรงเรือน การจัดการด้านโภชนาการ การจัดการด้านการเพาะขยายพันธุ์ การเก็บน้ำมันชะมด และการจัดการทางการตลาด  เชื่อว่าผลจากการศึกษาวิจัยเหล่านี้จะเป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชะมดเช็ดและนำไปใช้ในการส่งเสริมเกษตรกรได้ในอนาคต  หรืออาจนำไปสู่การเพาะขยายพันธุ์และการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้อีกด้วย
               
อ้างอิง
http://herbal.pharmacy.psu.ac.th/index.php?option=com_content&task=view&id=50&Itemid=60
http://www.thaicookingclub.com/thaimedicine_athome.htm
http://www.gotoknow.org/blog/thai-traditional-medicine/342029
http://plugmet.orgfree.com/herb_4.htm
http://www.thaipromote.com/view1767835.html
http://www.barnbun.com/index.php?option=com_content&view=article&id=89%3A2011-02-03-15-19-40&catid=30%3Aproduct-herb&Itemid=322
http://mhoya.9nha.com/samonpraithai/yasaman2.html
http://ittm.dtam.moph.go.th/data_all/articles/article20.htm

ยาหอมเทพจิตร



ยาหอมเทพจิตร
ในชีวิตประจำวันของคนไทย เมื่อใดก็ตามที่เกิดอาการ ท้องอืดท้องเฟ้อ, จุกเสียดแน่นท้อง, ไปจนถึงวิงเวียนศีรษะ, หน้ามืดตาลายคล้ายจะเป็นลม สิ่งแรกที่จะมองหาคว้ามาเพื่อช่วยบรรเทาอาการจากโรคลม ก็คือ ยาลม หรือ ยาหอมนั่นเอง ยาหอมเป็นยาสามัญประจำประเทศไทยมาหลายร้อยปีแล้ว แต่เดิมเป็นยาของคนชั้นสูง ที่ใช้เฉพาะในวัง และเมื่อเวลาผ่านไป จึงค่อยๆ เผยแพร่สู่ร้านขายยา ให้ประชาชนผู้ลมขึ้นทั้งหลายได้ใช้กัน สาเหตุที่ยาหอมนั้นแก้โรคลมสารพัดอาการได้ผลชะงัดนัก ก็เพราะเกิดจากการรวมตัวของสุดยอดสมุนไพรหลายสิบชนิด! บางชนิดก็ถือเป็นของหายากมากๆด้วยครับ
เรามาดูส่วนประกอบของยาหอมเทพจิตรกันก่อนนะครับ ซึ่งประกอบด้วย ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กานพลู จันทน์แดง จันทน์ขาว กฤษณา กระลำพัก ขอนดอก ชะลูด อบเชย เปราะหอม แฝกหอม หนักสิ่งละ 2 ส่วน ผิวมะกรูด ผิวมะงั่ว ผิวมะนาว ผิวส้มตะรังกะนู ผิวส้มจีน ผิวส้มโอ ผิวส้มเขียวหวาน หนักสิ่งละ 4 ส่วนผิวส้มซ่า หนัก 28 ส่วน ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง ดอกบัวขม ดอกบัวเผื่อน หนักสิ่งละ 4 ส่วนชะมดเช็ด การบูร หนักสิ่งละ 1 ส่วนโกฐสอ โกฐเขมา โกฐหัวบัว โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา โกฐกระดูก โกฐก้านพร้าว โกฐพุงปลา โกฐชฎามังสี หนักสิ่งละ 4 ส่วน เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนเยาวพาณี เทียนสัตตบุตย์ เทียนเกล็ดหอย เทียนตากบ หนักสิ่งละ 4 ส่วน พิมเสนหนัก 4 ส่วน ดอกมะลิ หนัก 184 ส่วน
วิธีทำ บดเป็นผงผสมน้ำดอกไม้เทศ ทำเป็นเม็ด หนักเม็ดละ 0.2 กรัม
สรรพคุณ แก้ลม บำรุงหัวใจ
ขนาดรับประทาน ครั้งละ 5- 7 เม็ด ไม่เกินวันละ 3 ครั้ง 
ข้อห้ามใช้   ห้ามใช้ในเด็กทารก
ข้อควรระวัง
      -  ระวังการใช้ยาเกินขนาดในผู้ป่วยโรคตับ ไตและทางเดินปัสสาวะ
      -  ระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้เกสรดอกไม้
ในสูตรตำรับของยาหอมเทพจิตรจะมีส่วนอัตราส่วนของดอกมะลิอยู่มากที่สุด ดังนั้นวันนี้ผมจะนำข้อมูลและสรรพคุณต่างๆของดอกมะลิมาให้ท่านผู้ฟังได้ทราบกันครับ
มะลิ มีชื่อพื้นบ้านว่า มะลิลา มะลิซ้อน มะลิหลวง และมะลิ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า (Jasmine) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Jasminum sambac Ait. และ Jusminum adenophyllum จัดอยู่ในวงศ์ OLEACEAE
มะลิจัดเป็นพรรณไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง แตกกิ่งก้านสาขาออกรอบๆ มีลำต้นสูงประมาณ 5 ฟุต ใบเป็นใบเดี่ยวแตกออกเป็นคู่ไปตามก้านต้น ลักษณะใบป้อมมน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบไม่มีจัก ผิวใบเรียบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ใบยาว 2-3 นิ้ว มีดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกเป็นช่อตามปลายยอดหรือปลายกิ่งประมาณ 3-5 ดอก แล้วแต่ชนิดและพันธุ์ ดอกมะลิมีสีขาว และมีกลิ่นหอม มีทั้งดอกลาและดอกซ้อน ออกดอกตลอดปี
"มะลิ" มีคุณค่าทางโภชนาการคือ ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยหลายชนิด กรดฟอร์มิก (formic acid)สารเซมเบน (sambain) และแซมบาโคติโนไซด์(sambacotiqnoside)
สรรพคุณของดอกมะลิ ใช้แต่งกลิ่น เข้ายาหอม แก้อาการหอบหืด ลดน้ำมูก แก้บิด ปวดท้อง ใช้ทาบริเวณที่ปวดศรีษะ ทาฝีหนอง ทาแผลเรื้อรัง ใช้ดอกมะลิสดหรือแห้ง 1.5 - 3 กรัม หรือใบสด 3 - 6 กรัม หรือรากสด 1 - 1.5 กรัม ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยกาแฟ ใช้ดื่มเพื่อรักษาอาการดังกล่าว
นำดอกมะลิสดไปลอยน้ำดื่ม จะมีสรรพคุณช่วยในการบำรุงหัวใจหรือจะใช้ดอกมะลิแห้ง 1.5 - 3.0 กรัม ต้มหรือชงกับชาจีนที่เรียกว่า จัสมินที (Jasmine Tea) แล้วดื่มร้อนๆ หรือขณะยังอุ่นอยู่ จะช่วยให้ชุ่มคอแก้กระหายน้ำได้เป็นอย่างดี
น้ำมันมะลิ หรือที่เรียกว่า จัสมินเอสเซนเชียลออย (Jasmine essential oil) นั้นมีราคาสูง เนื่องจากในกรรมวิธีการผลิต จะใช้จากส่วนดอกมะลิ เท่านั้น ถือว่าเป็นราชาแห่งน้ำมัน (King of oil) และยังนับได้ว่าเป็นน้ำมันที่มีความนุ่มนวลและเต็มไปด้วยคุณค่า เวลามีครรภ์ก็ควรลดขนาดที่ใช้ลง ใช้โดยให้ระเหยในห้องเมื่อเป็นหวัด ลดน้ำมูก ไอ หรือเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
จะเห็นได้ว่าดอกมะลิไม่ได้มีดีแค่ความหอมนะครับ ยังมีประโยชน์และคุณค่ามากมาย ทำให้ยาหอมเทพจิตรของเรามีประโยชน์และคุณค่าเพิ่มมากขึ้นด้วย


อ้างอิงhttp://herbal.pharmacy.psu.ac.th/index.php?option=com_content&task=view&id=49&Itemid=60
http://www.phoomtai.com/product/613/1/
http://www.thaicookingclub.com/thaimedicine_athome.htm
http://www.samunpri.com/modules.php?file=samon5&name=Herbs

วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2559

ยาหอมนวโกฐ



ยาหอมนวโกฐ
วันนี้ผมจะมาแนะนำยาหอมไปหลายตำรับแล้วสำหรับวันนี้เรายังอยู่ที่ยาหอมอยู่ครับ ยาหอมตัวนี้ชื่อว่า ยาหอมนวโกฐ ครับ ชื่อนวโกฐ แยกได้เป็นสองคำนะครับ คือคำว่า นว (นะวะ) ซึ่งแปลว่า เก้า และ โกฐ ซึ่งแปลว่า ต้นไม้ ยาหอมนวโกฐจึงแปลว่า ยาหอมที่ทำมาจากต้นไม้ หรือ โกฐ 9 ชนิดดังนี้ โกฐสอ โกฐเขมา โกฐหัวบัว โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา โกฐกระดูก โกฐก้านพร้าวโกฐพุงปลา โกฐชฎามังสี
เมื่อรู้จักที่มาของยาหอมกันแล้ว เรามาดูส่วนประกอบของยาหอมกันนะครับว่าประกอบด้วยอะไรบ้างครับ ส่วนประกอบของยาหอมนวโกศมีดังนี้ มีโกฐ 9 ชนิดดังที่กล่าวไว้ข้างต้นนะครับ คือ โกฐสอ โกฐเขมา โกฐหัวบัว โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา โกฐกระดูก โกฐก้านพร้าวโกฐพุงปลา โกศชฎามังสี หนักอย่างละ 4 ส่วน สะค้าน รากช้าพลู ขิงแห้ง ดีปลี รากเจตมูลเพลิงแดง หนักสิ่งละ 3 ส่วน  แห้วหมู เทียนดำ เทียนขาว เทียนแดง เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนเยาวพาณี เทียนสัตตบุษย์ เทียนเกล็ดหอย เทียนตากบ สักขี ลูกราชดัด ลูกสารพัดพิษ ลูกกระวาน กานพลู ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ จันทน์แดง จันทร์เทศ อบเชยญวน เปลือกสมุลแว้ง หญ้าตีนนก แฝกหอม เปลือกชะลูด เปราะหอม รากไคร้เครือ เนื้อไม้ ขอนดอก กระลำพัก เนื้อลูกมะขามป้อม เนี้อลูกสมอพิเภก ชะเอมเทศ ลูกผักชีลา ลูกกระดอม บอระเพ็ด เกสรบัวหลวง เกสรบุนนาค ดอกพิกุล ดอกสารภี ดอกมะลิ แก่นสน หนักสิ่งละ 4 ส่วน และ พิมเสน หนัก 1 ส่วน
วิธีทำ ชนิดผง นำสมุนไพรทั้งหมดตามสัดส่วนมาบดเป็นผง  สำหรับชนิดเม็ด นำสมุนไพรทั้งหมดมาบดเป็นผงแล้วทำเป็นเม็ด ให้ได้น้ำหนักเม็ดละ 0.2 กรัม
สรรพคุณ แก้ลมคลื่นเหียนอาเจียน โดยนำผงยามาละลายในน้ำลูกผักชี หรือเทียนดำต้ม  แก้ลมปลายไข้ โดยนำผงยามาละลายในน้ำกระสายใช้ก้านสะเดา ลูกกระดอม และบอระเพ็ด ต้มเอาน้ำ ถ้าหาน้ำกระสายไม่ได้ใช้น้ำสุกแทน
ขนาดรับประทาน  รับประทาน ทุก 3 ชั่วโมง วันละไม่เกิน 3 ครั้ง ( ชนิดผง ครั้งละ ½- 1 ช้อนชา ชนิดเม็ด ครั้งละ 5-10 เม็ด ) ละลายด้วยนำกระสาย 2-4 ช้อนโต๊ะ
ข้อควรระวัง
      -  ระวังในผู้ป่วยที่แพ้เกสรดอกไม้
      -  การใช้ยาในสตรีมีครรภ์ไม่ควรเกิน 5 วัน
จากสรรพคุณของยาหอมจะใช้ความเผ็ดร้อน และ กลิ่นหอมระเหยของสมุนไพรนะครับ ดังนั้นในวันนี้ผมจะมาแนะนำสมุนไพรที่ผสมอยู่กับยาหอมครับ สมุนไพรชนิดนี้คือ ดีปลี
ดีปลี มีชื่อภาษาท้องถิ่นว่า ประดงข้อ ดีปลีเชือก ปานนุ พิษพญาไฟ และดีปลี ดีปลีในที่นี้เป็นภาษาภาคกลาง ไม่ใช่ภาษาใต้บ้านเรา เพราะหากเป็นภาษาใต้บ้านเราหากพูดคำว่าดีปลีจะหมายถึง พริก นะครับ ดีปลี มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Long pepper หรือ Indian Long Pepper มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Piper retrofractum Vahl ดีปลีจัดอยู่ในวงศ์ Piperaceae จัดเป็นพืชเมืองร้อน เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง มีรากตามข้อของลำต้นเพื่อยึดเกาะ มีผลอัดแน่นเป็นช่อ ทุกส่วนมีกลิ่นหอมฉุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผล จะมีกลิ่นหอมฉุนและมีรสเผ็ดร้อนมากกว่า ปลูกมากในอินเดีย อินโดนิเซีย มาเลเซีย และไทย ใช้เป็นเครื่องเทศและทำยา
ดีปลี มีคุณค่าทางโภชนาการคือ ประกอบด้วย แอลคาลอยด์ ชื่อไปเปอรีน (piperine) 4-6 % และชาวิซีน (chavicine) มีน้ำมันหอมระเหย (0.7%) หลายชนิด เช่น แอลฟาทูจีน (α-thujene) เทอร์พิโนลีน (terpinolene) ซินจิเบอรีน (zingiberine) พาราไซมีน (p-cymene)
สรรพคุณของดอกดีปลีที่ใช้เป็นส่วนผสมของยาหอมนวโกฐ
ดอกหรือผล ใช้เป็นเครื่องเทศและยา ลูกหรือผล ใช้แต่งกลิ่นรสผักดอง กระตุ้นน้ำย่อยช่วยให้เจริญอาหาร รักษาโรคทางเดินหายใจ มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบและคลายตัว บำรุงธาตุ แก้ไอระคายคอ ละลายเสมหะ บรรเทาอาการท้องอืด ดอก ใช้ ปรุงเป็นยาธาตุแก้ตับพิการ แก้โรคนอนไม่หลับ โรคลมบ้าหมู ขับน้ำดี และมีสารต้านมะเร็ง วิธีใช้ จะใช้ผลแก่แห้งตากแห้ง 1 กำมือ (10-15 ผล) ต้มเอาน้ำดื่ม ใช้แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลม แก้จุกเสียด หรือใช้ผลแก่ฝนกับน้ำมะนาว เติมเกลือเล็กน้อย ใช้กวาดคอ แก้ไอขับเสมหะ หรือใช้ผลแห้งบดเป็นผงหนัก 5 กรัม ชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว ดื่มก่อนอาหาร เช้า-เย็น ในบางตำรามีระบุว่า ใช้ทาภายนอกแก้ปวดกล้ามเนื้อ รักษาอาการอักเสบ นอกจากนี้ยังพบว่า ในบางตำราใช้ ราก ผล และดอก ของดีปลีนำมาปรุงเป็นยาแก้หืด แก้ไอ แก้ลมวิงเวียนศรีษะได้ดี ซึ่งเป็นสรรพคุณของยาหอมนวโกฐของเราด้วยครับ




อ้างอิง
http://herbal.pharmacy.psu.ac.th/index.php?option=com_content&task=view&id=65&Itemid=60
http://www.konseo.com/
http://www.rmutt.biz/herbal-medicine/47.html
http://www.gotoknow.org/post/tag/%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B9%82%E0%B8%81%E0%B8%90
http://www.thaihof.org/
http://www.arunsawat.com/board/index.php?topic=10738.0
               



วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2559

ยาหอมอินทจักร์



ยาหอมอินทจักร์

สำหรับวันนี้ก็ยังเป็นยาหอมอยู่นะครับ ชื่อว่า ยาหอมอินทจักร์ ฟังดูชื่อแล้วบางท่านอาจจะยังไม่เคยได้ยิน เรามาทำความรู้จักกับยาสมุนไพรตัวนี้กันดีกว่านะครับ
                ส่วนประกอบของยาหอมนี้ประกอบด้วย  สะค้าน รากช้าพลู ขิง ดีปลี รากเจตมูลเพลิงแดง ลูกผักชีลา โกฐสอ โกฐเขมา โกฐก้านพร้าว โกฐพุงปลา โกฐจุฬาลำพา โกฐเชียง โกฐกักกรา โกฐน้ำเต้า โกฐกระดูก เทียนดำ เทียนขาว เทียนแดง เทียนข้าวเปลือก เทียนเยาวพาณี จันทน์แดง จันทร์เทศ เถามวกแดง เถามวกขาว รากหญ้านาง เปลือกชะลูด อบเชย เปลือกสมุลแว้ง กฤษณา กระลำพัก บอระเพ็ด ลูกกระดอม กำยาน
ขอนดอก ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ ลูกกระวาน การพลู รากไคร้เครือ ลำพันแดง ดอกสารภี ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกจำปา ดอกกระดังงา ดอกมะลิ ดอกคำไทย ฝางเสน ดีวัว พิมเสน สิ่งละ 1 ส่วน
วิธีทำ ชนิดผง ก็นำสมุนไพรตามอัตราส่วนมาบดเป็นผง แล้วชงดื่มได้เลย  ถ้าเป็นชนิดเม็ดก็นำสมุนไพรตามอัตราส่วนมาบด แล้วทำเป็นเม็ด ให้แต่ละเม็ดหนักประมาณ 0.2 กรัม
สรรพคุณ แก้ลมบาดทะจิต ใช้น้ำดอกมะลิ แก้คลื่นเหียนอาเจียน ใช้น้ำลูกผักชี เทียนดำต้ม ถ้าไม่มีใช้น้ำสุก แก้ลมจุกเสียด ใช้น้ำขิงต้ม
ขนาดรับประทาน รับประทาน ทุก 3 ชั่วโมง
ชนิดผง ครั้งละ ½- 1 ช้อนชา ชนิดเม็ด ครั้งละ 5-10 เม็ด
ยาหอมอินทจักร์มีสมุนไพรที่สำคัญเป็นส่วนประกอบหลายชนิด แต่ในวันนี้กระผมจะมาแนะนำ สมุนไพรตัวหนึ่งที่เราเคยกิน เคยใช้ในชีวิตประจำวันกันนะครับ สมุนไพรชนิดนี้คือ ขิงนั้นเองครับ
ขิง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Ginger มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zingibar officinale จัดอยู่ในวงศ์
Zingiberaceae ขิง มีชื่อพื้นบ้านว่า ขิงแกลง ขิงแดง ขิงเผือก สะเอ และขิง จัดเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าซึ่งมีกลิ่น มีรสเผ็ดร้อน ลักษณะของลำต้นคล้ายกับต้นข่า คือ มีใบและก้านใบโผล่พ้นพื้นดิน และมีหัวหรือเหง้าอยู่ใต้ผิวดิน เนื่องจากทั้งขิงและข่าต่างก็มีรสเผ็ดร้อนทั้งคู่ จึงมักจะถูกนำไปเปรียบเปรยกับคู่สามีภรรยา หรือคู่รักที่ต่างก็ไม่ยอมลงให้กันว่า ขิงก็ราข่าก็แรงครับ
ขิง มีคุณค่าทางโภชนาการคือ ประกอบด้วย โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน แคลเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัส ไนอาซีน วิตามินซี เส้นใย ในเหง้าแก่มีสาร โอลีโอเรซิน และมีน้ำมันหอมระเหย (1-3%) เช่น ซินจิเบอรีน (zingiberine) ซินจิเบอรอล (zingiberol) แคมฟิน (camphene) คิวมีน (cumene) เบต้าเซสควิเฟลแลนดรีน (beta-sesquiphellandrrne) เบต้าบิสอะโบลีน (beta-bisabolene) โชโกล (shogaols) และสารเบต้าแคโรทีน (beta- carotene)
สรรพคุณของขิงและวิธีใช้ ส่วนที่ใช้ประโยชน์ของขิง คือ ใบ ดอก เหง้าแก่และเหง้าอ่อนของขิงทั้งในรูปของเหง้าสดและแห้ง เนื่องจากขิงมีรสเผ็ดร้อน จึงสามารถกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดที่มาเลี้ยงผิวหนังและหนังศรีษะ ทำให้รากผมแข็งแรงมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของรังแค ลดคอเลสเตอรอลในเลือด ลดอาการแพ้วิงเวียน (เนื่องจากเมารถเมาเรือ) ขับน้ำดี แก้อักเสบบำรุงหัวใจ นอกจากนี้ขิงยังมีสารฟีนอลิก (phenolic compound) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นยากันบูด กันหืน(พวกน้ำมัน ไขมัน) แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้จุกเสียด ช่วยขับลม บรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน การใช้ขิงเพื่อรักษาอาการดังกล่าวมีคำแนะนำให้ใช้เหง้าขิงสดๆ ทุบพอแตกต้มกับน้ำสะอาด แล้วนำน้ำที่ได้มาใช้ดื่ม และหากจะใช้เพื่อระงับอาการไอ ขับเสมหะ ให้ใช้เหง้าขิงสดฝานเป็นแว่น ๆ ตำละเอียดแล้วผสมน้ำมะนาว และเกลือเล็กน้อย ใช้กวาดคอ หรือจิบกินบ่อยๆจะช่วยระงับอาการไอและขับเสมหะได้ดีค่ะ นอกจากนี้ในขิงจะมีเอนไซม์ย่อยเนื้อได้ไม่น้อยกว่า 2 ชนิด เหมือนเอนไซม์โปรทีเอส (protease) ซึ่งมีคำแนะนำให้ใช้ขิงแห้ง 2-4 กรัม หรือ ครึ่งถึง 1 ช้อนชา แบ่งเป็น 3 ส่วนชงน้ำร้อนดื่ม 3 เวลาทุกวัน จะช่วยในการย่อยอาหารให้ดีขึ้น ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ใช้ขับเหงื่อและขับลมในท้อง แก้จุกเสียดแน่นท้อง มีคำแนะนำให้ใช้ เหง้าขิงสดหรือแห้งก็ได้ ถ้าเหง้าสดให้ใช้ประมาณ 2 นิ้ว แต่ถ้าเป็นขิงแห้งใช้ประมาณ 2 แก้ว เติมน้ำตาลลงไปให้พอดีหวาน ใช้ดื่มหลังอาหารและก่อนนอนทุกวันนะคะ นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาชาเฉพาะที่ มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระที่ดีมากช่วยป้องกันความจำเสื่อม แก้ปวดศรีษะแบบไมเกรน และปวดข้อ บรรเทาอาการไขข้อรูมาตอยด์ ต้านการแข็งตัวของเลือด มีสารต้านแบคทีเรียจึงช่วยแก้อาการท้องร่วง และยังมีสารต้านมะเร็งที่มีสรรพคุณสูงด้วย และจากรายงานผลการทดลองในสัตว์ พบว่าสามารถลดความดันได้ แต่อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าในหญิงมีครรภ์ที่มีประวัติการแท้งง่าย ไม่ควรให้บริโภค และในน้ำขิงที่เข้มข้นเกินไป จะมีผลลดการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ จึงทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อยได้นะคะ นอกจากนั้นในคนที่มีปัญหาของถุงน้ำดี จึงไม่ควรใช้น้ำขิงที่เข้มข้นนะคะ ประโยชน์ของขิงนอกจากเหง้าแล้ว ยังมีรายงานว่า ในใบขิงก็สามารถใช้แก้อาการฟกช้ำ ช่วยย่อยอาหาร ขับลม และขับลมในลำไส้ ส่วนดอกขิง ใช้ในการช่วยย่อยอาหาร ฆ่าพยาธิ และบำรุงธาตุไฟ  ขิงนั้นนอกจากจะเป็นส่วนผสมในยาหอมอินทจักร์แล้ว น้ำขิงยังสามารถนำมาละลายผงยาหอมป็นกระสายยาได้อีกด้วยนะครับ
               

อ้างอิง
http://herbal.pharmacy.psu.ac.th/index.php?option=com_content&task=view&id=64&Itemid=60
http://plugmet.orgfree.com/herb_4.htm
http://www.thaihof.org/
http://www.samunpri.com/modules.php?name=General3
http://www.kongkaherb.co.th/mainweb/index.php?option=com_content&view=article&id=261:2009-10-09-13-47-54&catid=46&Itemid=103&lang=en
http://thaipharmacies.org/knowledge/thai-medicine/100-2010-07-22-04-39-08.html
http://www.samunpri.com/modules.php?file=yasamon1&name=Herbs
http://www.samunpri.com/modules.php?file=samon5&name=Herbs