วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559

ยาธรณีสันฑะฆาต



ยาธรณีสันฑะฆาต
                สวัสดีครับ วันนี้ผมขอนำเสนอเรื่อง  ยาธรณีสันฑะฆาต  ซึ่งเป็นยาสมุนไพรที่เป็นยาสามัญประจำบ้านที่ประกอบไปด้วย  ลูกจันทน์  ดอกจันทน์  ลูกกระวาน กานพลู  เทียนดำ  เทียนขาว  หัวดองดึง  หัวกลอย  หัวกระดาดขาว  หัวกระดาดแดง  ลูกเร่ว ขิง  ชะเอมเทศ  รากเจตมูลเพลิงแดง  โกศกระดูก  โกศเขมา  โกฐน้ำเต้า หนักสิ่งละ 1 ส่วน  ผักแพวแดง  เนื้อลูกมะขามป้อม หนักสิ่งละ 2 ส่วน  เนื้อลูกสมอไทย  มหาหิงคุ์  การบูร หนักสิ่งละ 6 ส่วน  รงทอง (ประสะแล้ว) หนัก 4 ส่วน  ยาดำ หนัก 20 ส่วน  พริกไทยล่อน หนัก 96 ส่วน  มีสรรพคุณในการแก้กษัยเส้น  เถาดาน  ท้องผูก  ใช้รับประทาน วันละ 1 ครั้ง  ก่อนอาหารเช้าหรือก่อนนอน  ครั้งละ ½ - 1  ช้อนชา  ละลายน้ำสุก  หรือผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอน  สามารถทำได้โดยนำส่วนประกอบมาบดเป็นผง  ยาตัวนี้มีข้อควรระวังในคนเป็นไข้  หรือสตรีมีครรภ์
ยาธรณีสันฑะฆาตมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ  พริกไทยล่อนและยาดำ  ซึ่งพริกไทยล่อนมีมากถึง 96 ส่วน  และยาดำ 20 ส่วน  พริกไทยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Piper nigrum Linn. อยู่ในวงศ์  Piperraceae  พริกไทยเป็นไม้เถาเลื้อยยืนต้น ลำต้นมีข้อ  ซึ่งบริเวณข้อใหญ่กว่าลำต้นจนเห็นได้ชัดเจน ลำต้นอ่อนมีสีเขียวและจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลตามอายุที่เพิ่มขึ้น  รากของพริกไทยมีสองชนิด  คือรากหาอาหารที่อยู่ใต้ดิน กับรากที่ทำหน้าที่ยึดลำต้นกับหลัก  ซึ่งอาจจะเป็นไม้ยืนต้นอื่นหรือไม้ค้างเพื่อให้เลื้อยเติบโตต่อไปได้  ใบของพริกไทยเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับตามข้อและตามกิ่ง  ใบเป็นรูปไข่  โคนใบใหญ่  ใบกว้างประมาณ 6-10 ซ.ม. ยาว 7-14 ซ.ม. มีลักษณะคล้ายใบพลู  ผิวใบเรียบเป็นมัน  ขนาดและลักษณะของใบจะแตกต่างกันไปตามพันธุ์ ออกดอกเป็นช่อในแนวยาวตรงข้ามกับใบ  ช่อดอกแต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยประมาณ 70-85 ดอก ช่อดอกอ่อนมีสีเหลืองอมเขียว  เมื่อแก่จะมีสีเขียวและปลายช่อห้อยลง  ผลของพริกไทยมีลักษณะกลม  เรียงตัวกันเป็นพวงอัดแน่นอยู่กับแกนช่อ  มีรสเผ็ดร้อน  ผลอ่อนมีสีเขียว  ผลสุกจะมีสีส้มแดง  ผลที่นำมาใช้มีสองชนิด คือ พริกไทยดำ และพริกไทยล่อน พริกไทยดำทำได้โดย  เก็บผลที่โตเต็มที่มีสีเขียวแก่มาตากจนแห้ง  ซึ่งจะได้พริกไทยสีดำเหี่ยว  ส่วนพริกไทยล่อน  คือการเก็บผลพริกไทยที่เริ่มสุกมาแช่น้ำ  แล้วนำมานวดเพื่อลอกเปลือกออก แล้วตากแดด  จะได้ผลพริกไทยมีสีขาวเป็นเงา


พริกไทยมีสรรพคุณที่สามารถนำมาใช้เป็นยาได้หลากหลาย  เช่น  เปลือกของพริกไทยมีน้ำย่อยสำหรับย่อยไขมัน  ด้วยเหตุนี้ตำราโบราณจึงเชื่อกันว่า  พริกไทยสามารถลดความอ้วนได้  พริกไทยช่วยกระตุ้นปุ่มรับรสที่ลิ้น  เพื่อให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยได้มากขึ้น  พริกไทยดำมีรสเผ็ดอุ่น  เมื่อรับประทานเข้าไปจะรู้สึกอุ่นวาบที่ท้อง  ช่วยขับลม  ขับเหงื่อ  ขับปัสสาวะ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ  แก้ไข้มาลาเรีย แก้อหิวาตกโรค  ใช้ก้านพริกไทย 10 ก้าน  บดให้ละเอียดแล้วต้มกับน้ำ 8 แก้ว  ใช้เป็นยาล้างแผลที่อัณฑะ  สารพิเพอรีนในพริกไทยสามารถใช้เป็นยาฆ่าแมลง  ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อมนุษยโดยนำผลพริกไทยมาทุบให้แตกแล้วใช้โรยบริเวณตู้เสื้อผ้าหรือบริเวณที่ต้องการ  แต่ก็มีข้อควรระวังว่าผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคตาและเจ็บคอไม่ควรรับประทานมาก  และมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า  พริกไทยดำจะมีสรรพคุณทางยามากกว่าพริกไทยล่อนโดยเฉพาะสรรพคุณที่นำมาประกอบเป็นยาอายุวัฒนะ
แต่ถ้าหากท่านได้ลองสืบค้นข้อมูลจากอินเตอร์เนต  จะพบว่าถึงพริกไทยดำนั้นจะมีสรรพคุณทางยาที่ดี  แต่ก็อาจทำให้เป็นมะเร็งได้  เพราะในพริกไทยดำนั้นมีสารที่เรียกว่า "แอลคาลอยด์ไพเพอร์ริน" ซึ่งถ้าร่างกายได้รับในปริมาณพอเหมาะก็จะไม่เป็นไร  แต่ถ้าได้รับมากเกินไป  มันจะสะสมจนกลายเป็นสารก่อมะเร็งไป  ตามปกติเราใส่พริกไทยดำในอาหารก็เพียงเพื่อแต่งรสชาติให้อร่อยลิ้นเท่านั้น  ปริมาณที่ได้รับจึงไม่มากมายอะไร  และร่างกายก็ได้รับประโยชน์จากพริกไทยดำได้เต็มที่  แต่ถ้ากินเป็นเม็ดๆ ในรูปของสารสกัด  ร่างกายจะได้รับแอลคาลอยด์ไพเพอร์รินในปริมาณที่สูงมาก  จนกลายเป็นโอกาสสำหรับมะเร็งไปเลย
จากที่ได้เล่ามาจะเห็นได้ว่าพริกไทยดำนั้นมีผลข้างเคียงที่น่ากลัว  แต่ท่านผู้ฟังไม่ต้องเป็นกังวลไป  เพราะส่วนประกอบในยาธรณีสันฑะฆาตนั้นเป็นพริกไทยล่อน หรือพริกไทยขาวนั่นเอง  และยาสันฑะฆาตก็มีประโยชน์ในด้านการแก้กษัยเส้น  เถาดาน  และแก้ท้องผูกได้อีกด้วย

อ้างอิง : http://herbal.pharmacy.psu.ac.th/index.php?option=com_content&task=view&id=60&Itemid=60 http://www.organicthailand.com/product-th-454870-1465405-%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%B3+++1%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A3.html http://sites.google.com/site/krunoinetwork/phrik-thiyda-phrik-thiy-khaw

 http://thearokaya.co.th/web/wp-content/uploads/2014/07/%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%91%E0%B8%B0%E0%B8%86%E0%B8%B2%E0%B8%95.jpg



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น